Download ..

ข่ า ว ก ร ะ ท ร ว ง พ า ณิ ช ย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือน เมษายน  2562


 
      ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 102.7 (เดือนมีนาคม 2562 เท่ากับ 102.0)
       2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนเมษายน 2562 เมื่อเทียบกับ
       2.1 เดือนมีนาคม 2562 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.7 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของดัชนี หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 3.4 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ไม่มากนัก หัวมันสำปะหลังสด เป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตออก สู่ตลาดน้อย ประกอบกับตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเป็นช่วงยางผลัดใบ และส่งผลให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง) ปรับตัวสูงขึ้น พืชผัก (มะนาว มะเขือ กะหล่ำปลี คะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง มะระจีน) จากสภาพอากาศร้อนส่งผลให้ผักบางชนิดเติบโตช้าและเสียหายง่าย ผลไม้ (องุ่น สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน) และสุกรมีชีวิต ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด และกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่มีอยู่ในเกณฑ์สูงกดดันราคาให้ลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่สังกะสี ปรับตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด เนื่องจากผลิตเพื่อส่งออกปริมาณมากทำให้สินค้าสำหรับขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์สับปะรด มันเส้น วัตถุดิบในการผลิตมีปริมาณน้อยขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (ผ้าไหม และเครื่องแต่งกาย) ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นประกอบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและจากมาตรการคว่ำบาตรประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลาส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก
       2.2 เดือนเมษายน 2561 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 0.7 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนเมษายน 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีกว่าเดือนที่ผ่านมา (0.4%YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 6.5 โดยสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา พืชผัก (มะนาว แตงกวา มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย ฟักทอง มะระจีน) จากสภาพอากาศร้อนส่งผลทำให้ ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ประกอบกับตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ (องุ่น กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ฝรั่ง) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต และไข่ไก่ จากความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตตลาดโลกมีอยู่ในเกณฑ์สูงกดดันราคาให้ลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 7.3 จากกลุ่มสินค้าก๊าซธรรมชาติ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ตามราคาสินค้าสำคัญเช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (เอทิลีน โพรพิลีน เบนซีน) รวมทั้งเม็ดพลาสติกที่เป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกปีที่ผ่านมาชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลให้ความต้องการใช้ปรับลดลง อย่างไรก็ตามการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันส่งผลให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น กลุ่มเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ คำสั่งซื้อชะลอตัวประกอบกับมีการปรับราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด กลุ่มเคมีภัณฑ์ (อนินทรีย์) เคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่นและเหล็กเส้น) จากการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากจีน กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาสินค้ารุ่นเดิมลงก่อนที่จะผลิตรุ่นใหม่ สำหรับแผงวงจรไฟฟ้า ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก
       2.3 เทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม – เมษายน 2562 กับเดือน มกราคม – เมษายน 2561 ลดลง ร้อยละ 0.1 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค. - เม.ย. ปี 2562 กับระยะเดียวกัน ปี2561 ลดลงร้อยละ 0.1 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มแร่โลหะและแร่อื่นๆ และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากกลุ่มผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์
      
       **************************************************************************************************
      
       ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนเมษายน 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป
       หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนเมษายน 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 103.9 , 100.7 และ 100.2 ตามลำดับ
       1) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนเมษายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.7 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.5 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ1.1
       2) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนเมษายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 1.1 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 4.0
       3) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม – เมษายน 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.1 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 1.8 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 3.0
      

*******************************************************

หากต้องการตารางข้อมูล ปีฐาน 2553 ตามรายงานด้านบน กรุณาติดต่อกลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต

กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โทร. 0 2507 7337