Download ..

ข่ า ว ก ร ะ ท ร ว ง พ า ณิ ช ย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือน มกราคม  2562


 
       ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

       1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมกราคม 2562 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 100.8 (เดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 101.0)
       2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนมกราคม 2562 เมื่อเทียบกับ
       2.1 เดือนธันวาคม 2561 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง อุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังมีอยู่มากแต่มีแนวโน้มลดลงตามแผนปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มเยื่อกระดาษ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง แผงวงจรไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ตามราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ลดลงประกอบกับการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากประเทศจีน หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.0 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่โลหะ ตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลผลิตออกน้อยขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ใบยาสูบ เป็นช่วงแรกการเปิดฤดูกาลรับซื้อรอบใหม่ ยางพารา จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงเนื่องจากยังมีมรสุมในพื้นที่กรีดยางประกอบกับเริ่มเข้าสู่ช่วงยางผลัดใบ เกษตรกรบางรายเริ่มหยุดกรีดยาง ผลไม้บางชนิด เช่น องุ่น กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน และฝรั่ง เป็นช่วงที่ผลผลิตออกน้อย กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ปริมาณความต้องการบริโภคที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเทศกาลท่องเที่ยวและปีใหม่ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.6 (ปลาทูสด ปลาอินทรี ปูม้า กุ้งแวนนาไม และหอยแครง) ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเนื่องจากบางพื้นที่ในภาคใต้ยังมีมรสุม
       2.2 เดือนมกราคม 2561 (YoY) ลดลงร้อยละ 1.1 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.6 ตามราคาสินค้าสำคัญ เช่นกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง อุปทานน้ำมันอยู่ในระดับสูงขณะที่ความต้องการใช้ชะลอตัว กลุ่มปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การแข่งขันสูงจึงปรับราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง) สต็อกยางในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น) ตามราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ลดลง กลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจึงปรับราคาเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม สำหรับแผงวงจรไฟฟ้า ปรับตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) เคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติและแร่เหล็ก ตามภาวะตลาดโลก และหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา ประกอบกับสต็อกข้าวของรัฐบาลมีปริมาณที่น้อยส่งผลให้กดดันราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ มันสำปะหลังสด จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง สุกรมีชีวิต และไข่ไก่ ปริมาณผลผลิตในระบบที่ลดลงและความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่องกดดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
      
       ******************************************************************************
      
       ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนมกราคม 2562 ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนมกราคม 2562 ดัชนีราคาเท่ากับ 102.3 , 98.6 และ 96.2 ตามลำดับ
       1. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมกราคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 0.5 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 0.4
       2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ชุดโครงสร้างแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนมกราคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 3.0 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 1.9
      
      
      
      

*******************************************************

หากต้องการตารางข้อมูล ปีฐาน 2553 ตามรายงานด้านบน กรุณาติดต่อกลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต

กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โทร. 0 2507 7337