Download ..

ข่ า ว ก ร ะ ท ร ว ง พ า ณิ ช ย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือน ตุลาคม  2563


 
       ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนตุลาคม 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 100.0 เทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.9 (YoY) เป็นผลจากหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อโลหะ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 20.2 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ตะกั่ว โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ผลปาล์มสด มันสำปะหลังสด อ้อย และยางพารา จากปริมาณผลผลิตที่ลดลง เป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อปริมาณน้ำในการเพาะปลูก รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.7 ขณะที่สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าวัตถุดิบ หดตัวร้อยละ 4.6 และ 1.4 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า - ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว อ้อย – น้ำตาลทรายดิบ - น้ำตาลทรายขาว ตามผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ -- ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง และผลปาล์มสด –น้ำมันปาล์มดิบ - น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จากความต้องการเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ
       1. เทียบกับเดือนตุลาคม 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.9 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม) จากความต้องการใช้ลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กระดาษคร๊าฟ กล่องกระดาษ) จากคำสั่งซื้อลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแผ่น ลวดเหล็ก บรรจุภัณฑ์โลหะ) กลุ่มสิ่งทอ (สิ่งทอจากใยสังเคราะห์ ทั้งเส้นใย ด้ายและผ้าทอ) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง
       หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 20.2 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ตะกั่ว ราคาเป็นไปตามภาวะตลาดโลก ซึ่งได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
       หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลังสด มะพร้าวผล อ้อย พืชผัก (มะนาว มะเขือ พริกสด ผักคะน้า ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว ผักชี ผักขึ้นฉ่าย) และผลไม้ (องุ่น สับปะรดโรงงาน ฝรั่ง ชมพู่) เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบของภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากในช่วงต้นปีปาล์มน้ำมันได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมัน B10 ซึ่งเป็นการระบายสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบได้บางส่วน ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากมาตรการแก้ปัญหาราคายางของภาครัฐประกอบกับสต็อกยางปรับลดลง กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาทูสด ปลาลัง ปลาหมึกกล้วย และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่องในการผลิตเป็นอาหาร ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มากนัก โดยตลาดภายในประเทศและการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ดี ประกอบกับฟาร์มเลี้ยงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้ง ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
       2. เทียบกับเดือนกันยายน 2563 (MoM) ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา ตามราคาตลาดโลก เนื่องจากความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้น กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ ปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และถุงพลาสติก ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ต่ำกว่า 1,800 ซีซี จากการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์ใหม่ของรถรุ่นเดิม ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ข้าวนึ่ง ปลายข้าว รำข้าวขาว กากรำข้าว เนื้อสุกร ตามราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตร ที่ปรับลดลง ทองคำ ตามราคาตลาดโลก และเครื่องแต่งกายบุรุษ (เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ) จากความต้องการกระตุ้นยอดขายของกิจการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
       หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากผลผลิตข้าวหอมมะลิเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับโรงสียังคงประสบปัญหาสภาพคล่องกดดันให้ราคาข้าวในตลาดปรับลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยังทรงตัว ผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มะพร้าวอ่อน ส้มเขียวหวาน มะละกอ ลองกอง) เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก และปลาตะเพียน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับการบริโภคชะลอตัวในช่วงเทศกาลกินเจ และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ประกอบกับราคาตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาล ทำให้ผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ผลปาล์มสด เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มะพร้าวผล เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุกในพื้นที่กรีดยาง และพืชผัก (มะนาว มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน พริกสด ผักขึ้นฉ่าย แตงร้าน บวบ) เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเทศกาลกินเจและพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วม
       หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 3.4 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท ตามราคาตลาดโลก
       3. เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 1.9 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.1 จากการลดลงของราคาสินค้า กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า สายเคเบิล และสายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น และเหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก และถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย ผ้าเช็ดตัว เสื้อบุรุษ กางเกงบุรุษ และกางเกงสตรี กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา และไม้อัด
       หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 14.4 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และแร่โลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม)
       หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า และชมพู่ กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ และกลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาทูสด ปลาลัง และปลาหมึกกล้วย
       4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤศจิกายน 2563
       แนวโน้มสถานการณ์ภาคการผลิตของประเทศไทยคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตที่มี การปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตยังได้รับแรงสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ ปาล์มน้ำมัน ผักสด สุกร และยางพารา ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับราคาสูงขึ้นเกิดจากทั้งด้านอุปทานที่ปริมาณผลผลิตลดลง และบางส่วนเกิดจากอุปสงค์ซึ่งมีไม่มากนัก จึงอาจต้องเร่งหามาตรการเพื่อรักษาระดับรายได้โดยรวมของเกษตรกร
       สำหรับปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อภาคการผลิต รวมถึงอุปสงค์โดยรวมของตลาด ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา มาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ สถานการณ์ราคาน้ำมัน และปัญหาทางการเมือง ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
      

*******************************************************

หากต้องการตารางข้อมูล ปีฐาน 2553 ตามรายงานด้านบน กรุณาติดต่อกลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต

กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โทร. 0 2507 7337