Download ..

ข่ า ว ก ร ะ ท ร ว ง พ า ณิ ช ย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือน ตุลาคม  2552


 
      กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนตุลาคม 2552 โดยสรุป

       จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้
      
       1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนตุลาคม 2552
       ในปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีเท่ากับ 157.7 และเดือนกันยายน 2552 ดัชนีเท่ากับ 152.5
      
       2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เมื่อเทียบกับ
       2.1 เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.4
       2.2 เดือนตุลาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.6
       2.3 เฉลี่ยเดือน (มกราคม - ตุลาคม) 2552 กับช่วงเดียวกันปี 2551 ลดลงร้อยละ 6.1
      
      
       3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนกันยายน 2552 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 17.4 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 0.2 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 0.3
      
       3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 17.4 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 13.1) ตามการสูงขึ้นของดัชนีราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 21.8 ผลผลิตการเกษตรสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ พืชผัก เช่น หัวหอมแห้ง หัวกระเทียมแห้ง มะนาว ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักบุ้งจีน ต้นหอม และผักชี ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และแตงโม เนื่องจากเกิดภัยธรรมชาติน้ำท่วมแหล่งผลิตทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ประกอบกับเทศกาลกินเจ ความต้องการของตลาด มีมากกว่าปกติ สินค้าเกษตรกรรมสำคัญอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ และสัตว์น้ำประเภทปลา เช่น ปลาทูสด และปลาโอ เป็นต้น
      
       3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เดือนกันยายน 2552 ลดลง ร้อยละ 1.6) จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) แร่ตะกั่ว และแร่สังกะสี เป็นสำคัญ
      
       3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนกันยายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ร้อยละ 3.2 ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง เนื่องจากมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน ผลิตภัณฑ์อโลหะ ร้อยละ 1.8 ได้แก่ ปูนซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และยางมะตอย สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ เครื่องประดับและทองรูปพรรณ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทสัตว์น้ำแปรรูป ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 2.0 ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทกุ้งแช่แข็ง ปลาหมึกแห้ง ปูกระป๋อง เป็นต้น
      
      
       4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนตุลาคม 2552 เทียบกับเดือนตุลาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.6 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 20.1 ตามการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 22.2 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 8.0 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 13.3 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของราคาปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 15.0 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ร้อยละ 12.7 เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ร้อยละ 9.2 เป็นต้น
      
       5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเฉลี่ย เดือนมกราคม - ตุลาคม 2552 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ดัชนีลดลงร้อยละ 6.1 โดยดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง ร้อยละ 14.3 จากการลดลงของราคาปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลงร้อยละ 7.9 จากการลดลงของราคาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 3.2 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 3.6 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 8.0 เป็นสำคัญ
      
      

*******************************************************

หากต้องการตารางข้อมูล ปีฐาน 2553 ตามรายงานด้านบน กรุณาติดต่อกลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต

กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โทร. 0 2507 7337