Download ..

ข่ า ว ก ร ะ ท ร ว ง พ า ณิ ช ย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือน สิงหาคม  2557


 
      ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนสิงหาคม 2557
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2557 โดยสรุปดังนี้
       จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 609 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้
      
       1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2557
       ในปี 2548 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนสิงหาคม 2557 ดัชนีราคาเท่ากับ 138.9 และเดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีราคาเท่ากับ 140.1
      
       2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเทียบกับ
       2.1 เดือนกรกฎาคม 2557 ลดลงร้อยละ 0.9 (-0.9)
       2.2 เดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (+0.1)
       2.3 เฉลี่ยช่วงเดือน (มกราคม - สิงหาคม 2557) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม - สิงหาคม 2556) ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.2 (+1.2)
      
       3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2557 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.9 จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมร้อยละ 2.3,2.7 และ 0.5 ตามลำดับ
      
       3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรมดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.3 (เดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 3.5) สินค้าเกษตรสำคัญที่มีราคาลดลงคือ ผลผลิตการเกษตร พืชน้ำมัน ได้แก่ ผลปาล์มสดและมะพร้าวผล ผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ยางพารา ได้แก่ น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบและเศษยาง ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่องจากความต้องการใช้ยางลดลง โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่มีสต็อกยางอยู่ในระดับสูง พืชผัก ได้แก่ มะนาว แตงกวา มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ผักกาดหัว ผักคื่นฉ่าย กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง ฟักทอง เห็ด บวบและมะระจีน อากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน เงาะและลำไย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวเปลือกเหนียว เป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ผลผลิตโดยรวมยังมีปริมาณน้อย ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาอินทรี ปลาสำลี ปลาทรายแดง ปลาโอและกุ้งสด
      
       3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.7 (เดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4) สาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่ดีบุก ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโลก
       3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.5 (เดือนกรกฎาคม 2557 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.2) สาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันก๊าดและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามภาวะตลาดโลก ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีราคาลดลงได้แก่ เนื้อสุกร กุ้งแช่แข็ง น้ำมันปาล์มดิบ ข้าวนึ่ง อาหารสุกร น้ำตาลทรายขาว เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ เยื่อกระดาษ ปุ๋ยเคมีผสม เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เครื่องคอมพิวเตอร์และทองรูปพรรณ สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ไก่สด น้ำสับปะรด นมพร้อมดื่ม ข้าวสารเจ้า ปลายข้าว รำข้าวขาว มันเส้น นิตยสารและเม็ดพลาสติก
      
       4. พิจารณาดัชนีราคาเดือนสิงหาคม 2557 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สาเหตุจากการสูงขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองสูงขึ้นร้อยละ 1.2 ตามการสูงขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติร้อยละ 0.5 แร่โลหะร้อยละ 3.6 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้าร้อยละ 0.1 ไม้และผลผลิตจากไม้ร้อยละ 0.1 เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ร้อยละ 0.1 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมร้อยละ 3.3 เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีร้อยละ 2.4 โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะร้อยละ 2.1 เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ร้อยละ 2.1 ยานพาหนะและอุปกรณ์ร้อยละ 0.2 ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ดัชนีราคาลดลงได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบร้อยละ 0.4 สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอร้อยละ 0.1 ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกร้อยละ 8.3 เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 0.8 สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ร้อยละ 0.9 สำหรับหมวดผลผลิตเกษตรกรรมดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของผลผลิตการเกษตรร้อยละ 1.0
      
       5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 8 เดือนของปี 2557 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2556 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.2 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.0 ตามการสูงขึ้นของราคาสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ร้อยละ 7.4 ปลาและสัตว์น้ำร้อยละ 13.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 7.8 ตามการสูงขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติร้อยละ 9.0 แร่โลหะและแร่อื่นๆ ร้อยละ 3.2 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.1 ตามการสูงขึ้นของราคาสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอร้อยละ 0.5 หนังฟอก ผลิตภัณฑ์หนังและรองเท้าร้อยละ 0.9 ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ร้อยละ 0.5 เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ร้อยละ 0.2 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมร้อยละ 11.0 เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมีร้อยละ 1.7 ผลิตภัณฑ์อโลหะร้อยละ 0.6 เครื่องจักรส่วนประกอบและอุปกรณ์ร้อยละ 1.2 ยานพาหนะและอุปกรณ์ร้อยละ 0.4
      

*******************************************************

หากต้องการตารางข้อมูล ปีฐาน 2553 ตามรายงานด้านบน กรุณาติดต่อกลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต

กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โทร. 0 2507 7337