Download ..

ข่ า ว ก ร ะ ท ร ว ง พ า ณิ ช ย์

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือน สิงหาคม  2552


 
       กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 โดยสรุป

       จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ สรุปผลดังนี้
      
       1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2552
       ในปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนสิงหาคม 2552 ดัชนีเท่ากับ 149.0 และเดือนกรกฎาคม 2552 ดัชนีเท่ากับ 148.2
      
       2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เมื่อเทียบกับ
       2.1 เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5
       2.2 เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 10.4
       2.3 เฉลี่ยเดือน (มกราคม - สิงหาคม) 2552 กับช่วงเดียวกันปี 2551 ลดลง ร้อยละ 7.0
      
       3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 2.8 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 1.6 ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.0
      
       3.1 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 2.8 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 1.2) จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ตะกั่ว แร่สังกะสี และแร่ดีบุก
      
       3.2 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 1.6 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.2) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 8.3 ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด และยางมะตอย ตามการสูงขึ้นของราคาตลาดโลก ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง กระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก และขวดพลาสติก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โพลีสไตริน (PS) โพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC) โพลีเอทีลีน (PE) โพลีโพรพิลีน (PP) อะคริโลไนทริล บิวทาไดอีน สไตริน (ABS) ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ทรายและหิน โลหะขั้นมูลฐาน ประเภท เหล็กแท่ง เหล็กเส้น และเหล็กแผ่น อุตสาหกรรมอาหารที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ไก่สด แฮม ไส้กรอก ปลาป่น น้ำสับปะรด น้ำมันปาล์ม ข้าวสารเจ้า น้ำตาลทราย เป็นต้น
      
       3.3 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีลดลง ร้อยละ 5.0 (เดือนกรกฎาคม 2552 ลดลงร้อยละ 6.1) จากการลดลงของดัชนีราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 6.9 ผลผลิตการเกษตรสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพด ผลปาล์มสด พืชผัก เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอมและผักชี ผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ และลำไย โดยเฉพาะ ไม้ดอก เช่น ดอกกล้วยไม้ มีราคาลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
      
      
       4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนสิงหาคม 2552 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 10.4 สาเหตุจากการลดลงของดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 16.2 ตามการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 21.6 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 10.4 จากการลดลงของราคา ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 9.1 ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น
      
       5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเฉลี่ย เดือนมกราคม - สิงหาคม 2552 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ดัชนีลดลงร้อยละ 7.0 โดยดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง ร้อยละ 16.4 จากการลดลงของราคาปิโตรเลียม และแร่โลหะ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีลดลง ร้อยละ 8.8 จากการลดลงของราคาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี โลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ร้อยละ 2.6 สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 2.8 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.4 เป็นสำคัญ
      
      

*******************************************************

หากต้องการตารางข้อมูล ปีฐาน 2553 ตามรายงานด้านบน กรุณาติดต่อกลุ่มดัชนีราคาผู้ผลิต

กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โทร. 0 2507 7337